อุปกรณ์ฟาร์สุกร ฟาร์มโคนม ฟาร์มโคเนื้อ เครื่องมือทางสัตวแพทย์ เครื่องมือผ่าตัด วัสดุทางการแพทย์ ยารักษาสัตว์
ตะกร้าสินค้า
WELCOME TO NUTRI PLUS INTERTRADE CO.,LTD

We are importer and distributor of Veterinary instrument, animal health supplies, farm equipment, etc.
We aim to delivery product quality with reasonable price and fast service.
Shop online – Best offer & up to 50% Discount!

ดูบทความการดูแลแม่และลูกสุกรเล้าคลอด

การดูแลแม่และลูกสุกรเล้าคลอด

หมวดหมู่: บทความแนะนำ

สพ.ญ.อุไรวรรณ  พิพัฒน์ธนวงศ์ นักวิชาการอาวุโส (สุกร)

 

มนุษย์และสุกรเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม การดูแลแม่สุกรตลอดระยะการอุ้มท้องจนถึงคลอด การดูแลแม่สุกรหลังคลอดรวมทั้งการ ลูกสุกรดูดนมก็ไม่มีความแตกต่างไปจากการดูแลมารดาที่ตั้งครรภ์ และมารดาหลังคลอดรวมทั้งทารก หากผู้อ่านที่มีลูกแล้วจะมีความเข้าใจเป็นอย่างดีเกี่ยวกับ ภรรยาหรือตนเองที่ตั้งครรภ์ก็ต้องเอาใจใส่ เอาอกเอาใจ ดูแลเกือบทุกๆ เรื่อง เช่น การกินอาหารก็ห้ามตามใจปากต้องคุมน้ำหนักไม่ให้เพิ่มมากเกินไป เพราะอาจส่งผลเสียทั้งต่อตัวแม่และลูกได้ อาการขี้ร้อนที่เกิดขึ้นเกือบทุกคน เพราะน้ำหนักตัวแม่ที่เพิ่มมากขึ้นร่วมกับความร้อนที่สร้างเพิ่มขึ้นจากลูกในครรภ์ แต่ช่องทางการระบายความร้อนลดลง เนื่องจากปอดไม่สามารถขยายตัวได้เต็มที่เพราะช่องอกถูกดันจากการขยายตัวของมดลูกในช่องท้อง (ลองนึกถึงตอนที่ทานอาหารอิ่มจัดๆ ท่านก็หายใจไม่ค่อยออกอึดอัดมากเช่นกัน)

        เมื่อลองนำมาเปรียบเทียบกับการดูแลสุกรก็ไม่แตกต่างเช่นกัน แม่สุกรอุ้มท้องก็ต้องคุมอาหารรักษาคะแนนร่างกายไม่ให้อ้วน แม่สุกรอุ้มท้องโดยเฉพาะช่วงท้ายก็ต้องดูแลให้เย็นสบาย ห้ามปล่อยให้แม่สุกรหอบร้อน เมื่อเราทะนุถนอมดูแลทารกในครรภ์/ตัวอ่อนสุกรในท้องมาตั้งแต่รู้ว่าตั้งครรภ์/ตรวจพบว่าท้องจนใกล้ถึงกำหนดคลอดเพื่อให้ได้ทารก/ลูกสุกรที่มีสุขภาพแข็งแรง กระบวนการคลอด/ช่วยคลอดตลอดจนการดูแลสุขภาพมารดา/แม่สุกร และ ทารก/ลูกสุกรหลังคลอดก็สำคัญไม่แพ้กัน

        มารดาเมื่อครบกำหนดคลอดก็จะเดินทางไปโรงพยาบาล ซึ่งมีห้องคลอดเป็นสถานที่ที่สะอาด ปลอดเชื้อเตรียมไว้สำหรับขบวนการคลอดและมีบุคคลากรที่มีประสบการณ์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งตัวมารดาและบุตร เมื่อมารดาเริ่มมีอาการเจ็บเตือน พยาบาลและแพทย์ก็จะคอยมาตรวจสอบอาการและปากมดลูกเป็นระยะ ถ้ามารดาสามารพคลอดลูกได้เองพยาบาลและแพทย์ก็จะเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์และเป็นผู้ช่วยคอยรับตัวบุตรที่มารดาเบ่งคลอดออกมา แต่ถ้าหากกระบวนการคลอดนานมากเกินหรือเกิดความผิดปกติแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่ามารดาอาจไม่สามารถเบ่งคลอดบุตรด้วยตนเองและอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวมารดาและบุตร แพทย์จะรีบดำเนินการให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

        แม่สุกรอุ้มท้องก็เช่นกัน แม่สุกรอุ้มท้องประมาณ 114 วัน ก่อนครบกำหนดคลอดประมาณ 1 สัปดาห์ แม่สุกรจะถูกย้ายจากซองอุ้มท้องไปอยู่ในซองคลอดที่สะอาด มีอากาศถ่ายเทดีและมีน้ำหยดช่วยให้เย็นสบาย มีพนักงานที่มีประสบการณ์ในการดูแลและช่วยคลอดอย่างใกล้ชิด พร้อมให้ความช่วยเหลือในการช่วยคลอดได้ทันท่วงที เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดกับแม่และลูกสุกร

กระบวนการคลอด

        แม่สุกรใกล้คลอดจะแสดงอาการออกมาหลายอย่าง ได้แก่กระวนกระวาย ไม่อยู่นิ่ง แสดงพฤติกรรมการสร้างรัง กล้ามเนื้อสวาป พื้นท้องและหางหดตัว อัตราการหายใจเพิ่มขึ้นจากปกติที่ 25-30 ครั้งต่อนาทีเป็นมากกว่า 80 ครั้งต่อนาที ก่อนการคลอดจะเกิดขึ้นประมาณ 5-6 ชั่วโมง อัตราการหายใจจะลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ ช่วงใกล้คลอดเต้านมแม่สุกรจะขยายใหญ่ อาจมีน้ำนมไหลหยดออกจากหัวนม ความข้นและคุณภาพของนมอาจแตกต่างกันไปในแม่สุกรแต่ละตัว ปกติเราจะพบน้ำนมไหลออกมาก่อนการคลอด 6-8 ชั่วโมง แม่สุกรหลายตัวอาจพบของเหลวสีปนเลือดและขี้เทาออกมาจากอวัยวะเพศซึ่งเป็นอาการที่แสดงว่าการคลอดจะเกิดขึ้นภายใน 30 นาที ซึ่งเป็นผลมาจากกล้ามเนื้อมดลูกบีบตัวอย่างแรงทำให้เยื่อหุ้มรกฉีกขาดออก

 

รูปที่ 1  แสดงลักษณะของเหลวสีปนเลือดและขี้เทาไหลออกมาจากอวัยวะเพศของแม่สุกรใกล้คลอด

 

 

อาการหมุนควงหางของแม่สุกรเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าลูกสุกรกำลังเคลื่อนตัวผ่านช่องคลอดออกมา ซึ่งอาจจะเอาหัวหรือหางออกมาก่อนก็ได้ ช่วงห่างของการคลอดลูกสุกรแต่ละตัวเฉลี่ยประมาณ 15 นาที แต่ส่วนใหญ่พบว่าแม่สุกรจะคลอดลูกประมาณ 2-4 ตัวแรกใน 10-20 นาที ก่อนจะหยุดพัก 60-90 นาที จากนั้นจะเบ่งคลอดอีกครั้งโดยไม่พบปัญหาการคลอด แต่ถ้าการคลอดช่วงครึ่งหลังช้าออกไป มักจะพบปัญหาการตายแรกคลอดตามมา ระยะเวลาที่ใช้ในการคลอดลูกสุกรตั้งแต่ตัวแรกจนเสร็จสิ้นประมาณ 2.5 ชั่วโมง ถ้าแม่สุกรสามารถคลอดลูกได้เอง พนักงานที่ดูแลจะทำหน้าที่เฉพาะสังเกตการณ์คลอดและคอยช่วยเหลือลูกสุกรที่คลอดออกมาเพราะการเข้าไปรบกวนช่วงการคลอดมากเกินจำเป็น แม่สุกรจะหลั่งอะดรีนาลีนไปยับยั้งการหลั่งออกซิโตซินยิ่งทำให้กระบวนการคลอดนานออกไป การคลอดที่ใช้เวลามากกว่า 5 ชั่วโมงควรวินิจฉัยว่าการคลอดมีปัญหา

        เมื่อเริ่มพบปัญหาการคลอด แม่สุกรแสดงอาการเบ่ง ประกอบกับการมีน้ำเดินและขี้เทาออกมานานกว่า 15 นาที แต่ไม่พบลูกสุกรคลอดออกมา จึงพิจารณาให้ช่วยคลอด เริ่มจากพยายามให้แม่สุกรลุกขึ้นยืนขยับตัวเพื่อให้มดลูกมีการเคลื่อนไหว เพราะมีโอกาสที่คลอดไม่ออก เนื่องจากมดลูกพับตัวขวางช่องทางการคลอดรอประมาณ 10 นาที ถ้าแม่สุกรยังคงแสดงอาการเบ่งแต่ไม่พบลูกสุกรออกมาให้พิจารณาล้วงช่วยคลอด โดยคำนึงถึงความสะอาด และนุ่มนวล เพื่อตรวจสอบการอุดตันของระบบสืบพันธุ์อาจเนื่องมาจากลูกสุกรคลอดผิดท่า หรือลูกสุกรมีขนาดใหญ่หรือมีลูกสุกรมากกว่า 1 ตัวเข้าสู่ช่องคลอดพร้อมกัน เมื่อนำลูกสุกรที่ขัดขวางการคลอดออกมาได้แล้ว ตัวต่อไปมักคลอดออกมาได้เองแต่ถ้าไม่พบลูกสุกรห้ามควานหา ให้พิจารณาใช้ฮอร์โมนออกซิโตซินด้วยความระมัดระวัง ฉีดเข้ากล้ามเนื้อคอและอาจให้ซ้ำในอีก 15-20 นาที ถ้าจำเป็น การใช้ปริมาณมากไปจะเหนี่ยวนำให้เกิด ภาวะมดลูกหดเกร็งและอาจทำให้กระบวนการคลอดนานออกไปส่งผลทำให้ลูกสุกรตายได้ หรืออาจกระตุ้นการหลั่งออกซิโตซินตามธรรมชาติ โดยการปล่อยลูกสุกรที่คลอดออกมาแล้วเข้ากินนมแม่สุกรให้เร็วที่สุดเพื่อให้การดูดนมของลูกสุกร กระตุ้นให้แม่สุกรหลั่งออกซิโตซิน ส่งผลให้มดลูกบีบตัวและเกิดการคลอดได้ตามธรรมชาติ ช่วยลดภาวการณ์เกิดรกค้าง (ตามปกติจะถูกขับออก มาภายใน 4 ชั่วโมงหลังคลอด) และไม่เป็นอันตรายต่อตัวแม่สุกร

การดูแลหลังการคลอด

        ก่อนคลอดเราดูแลเฉพาะตัวแม่อย่างเดียว เพราะลูกที่อยู่ในท้องมีร่างกายแม่คอยดูแลอยู่ แต่หลังจากคลอดเสร็จลูกออกมาอยู่นอกร่างกายแม่ เราต้องมีการดูแลลูกให้เหมาะสมเพื่อให้ลูกดำรงชีวิตอยู่ต่อไป

        การดูแลแม่สุกรหลังคลอดควรให้ยาปฏิชีวนะเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ การให้ออกซิโตซินและยาบรรเทาปวดลดไข้ และลดการอักเสบ ควรพิจารณาเป็นกรณีไป ไม่จำเป็นต้องใช้ประจำกับแม่สุกรทุกตัว ดูแลความสะอาดของคลอดไม่ให้สกปรกเปียกแฉะ เนื่องจากอาจทำให้เกิดการติดเชื้อย้อนกลับเข้าไปในมดลูกซึ่งปากมดลูกยังปิดไม่ดี กระตุ้นให้แม่สุกรฟื้นตัวกลับมากินได้ให้ไวที่สุด มีน้ำและอาหารแม่เลี้ยงลูกให้กินอย่างเต็มที่เพื่อให้แม่สุกรรักษาความสมบูรณ์ของร่างกายจากภาระที่ต้องใช้พลังงาน เพื่อการสร้างน้ำนมให้เพียงพอต่อลูกสุกรเหมือนกับมารดาหลังคลอดบุตร ต้องทานอาหารที่มีคุณภาพให้ได้สารอาหารครบเต็มที่ไม่ควรลดน้ำหนักหรือคุมอาหารและดื่มน้ำมากๆ

        การดูแลทารกหลังจากคลอดออกจากครรภ์มารดา แพทย์จะทำการดูดเอาของเหลวและเมือกออกจากจมูก ปาก และทางเดินหายใจ ผูกและตัดสายสะดือ เช็ดตัวให้แห้ง ตรวจสุขภาพเบื้องต้นในห้องคลอด ส่งให้มารดาเพื่อให้ทารกได้ดูดเต้านมของมารดาเล็กน้อยก่อนที่จะนำทารกเข้าตู้ปรับอุณหภูมิ เพื่อนำไปตรวจร่างกายอย่างละเอียดและรีบนำทารกกลับมากินนมน้ำเหลืองจากแม่ให้เร็วที่สุด

        ลูกสุกรก็เช่นเดียวกันเมื่อคลอดออกมาแล้วก็ต้องการการดูแลเหมือนทารก ดูดเมือกที่ขัดขวางการหายใจ ตัดสายสะดือ เช็ดตัวให้แห้ง เพราะลูกสุกรยังไม่สามารถรักษาอุณหภูมิของร่างกายได้ดี ควรนำลูกสุกรให้ไปกินนมน้ำเหลืองให้เร็วที่สุดเพื่อให้ลูกสุกรได้รับพลังงาน และภูมิคุ้มกันที่ถ่ายทอดมาทางน้ำนม เนื่องจากพลังงานสำรองในตัวลูกสุกรมีน้อยและเนื่องจากรกของลูกสุกรหนาประกอบด้วยชั้นเซลล์ถึง 6 ชั้น ทำให้ภูมิคุ้มกัน (อิมมูโนโกลบูลิน) ที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่ไม่สามารถส่งผ่านทางรกได้ ดังนั้นลูกสุกรจำเป็นต้องได้รับภูมิคุ้มกันจากนมน้ำเหลืองเท่านั้นซึ่งความสามารถในการดูดซึมภูมิคุ้มกันจากนมน้ำเหลืองจะลดลงแปรผันกลับกับระยะเวลาหลังคลอดที่เพิ่มขึ้น ลูกสุกรควรได้รับนมน้ำเหลืองอย่างเต็มที่โดยเร็วที่สุดโดยเฉพาะ 6 ชั่วโมงแรกหลังคลอด เพราะเป็นช่วงที่เซลล์ของลำไส้สามารถดูดซึมภูมิคุ้มกันได้มากที่สุด

        วันแรกที่คลอดนอกจากจัดการเรื่องช่วยคลอด และจับลูกสุกรกินนมน้ำเหลืองแล้ว จะต้องมีการจัดเตรียมที่นอนของลูกสุกรคือ กล่องกก กล่องกกที่ดีควรมีคุณสมบัติคือ แห้ง สะอาด อบอุ่น กันลมโกรกและต้องมีพื้นที่เพียงพอสำหรับลูกสุกรทุกตัว ฟาร์มควรเปิดไฟกกให้ภายในกล่องกกมีความอบอุ่น โดยมีอุณหภูมิประมาณ 33-35C ก่อนลูกสุกรตัวแรกจะคลอด หลังจากขบวนการคลอดเสร็จสิ้น แม่สุกรจะคลอดรกตามมา เมื่อเช็ดตัวลูกสุกรให้แห้งและพาไปกินนมน้ำเหลืองอย่างเต็มที่แล้ว (เริ่มนอน หรือหลับคาเต้า) จากนั้นค่อยฝึกลูกสุกรเข้ากล่องกก และฝึกอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 2-3 วัน ซึ่งจะทำให้ลูกสุกรรู้จัก และเข้าไปนอนในกล่องกกได้ด้วยตนเอง

        วันที่สองหลังจากคลอด ปล่อยให้ลูกสุกรดูดนมแม่สุกรอย่างเต็มที่โดยไม่มีการรบกวนใดๆ เพราะความสามารถในการดูดซึมภูมิคุ้มกันโรคในนมน้ำเหลืองของทางเดินอาหารลูกสุกรจะหมดลงภายใน 24-36 ชั่วโมง หลังคลอด หลังจากนั้นจึงเริ่มทำกิจกรรมต่างๆ กับลูกสุกรตามโปรแกรมที่เหมาะสมของแต่ละฟาร์ม ยกตัวอย่างเช่น

 

 

ปัญหาที่พบบ่อยหลังคลอด

        แม่สุกรนมแห้ง ก่อให้เกิดปัญหาทางตรงต่อการสูญเสียลูกสุกรเนื่องจากไม่ได้รับสารอาหารและพลังงานจากนมแม่สุกร และทางอ้อมจากการที่ลูกสุกรติดเชื้อง่ายเพราะลูกสุกรแรกคลอดขาดภูมิคุ้มกันโรค เนื่องจากไม่ได้รับภูมิคุ้มกันจากนมน้ำเหลือง น้ำหนักหย่านมต่ำ ลูกสุกรอ่อนแอถูกแม่ทับ ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้จบแค่เพียงในเล้าคลอดเท่านั้น หากยังพบว่าลูกสุกรที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันร่างกายที่ต่ำจากการได้รับนมน้ำเหลืองไม่เพียงพอมักจะเป็นกลุ่มเดียวกับสุกรที่ก่อปัญหาชักในเล้าอนุบาลด้วย

        ปัญหานมแห้งอาจเกิดร่วมกับปัญหาเต้านมอักเสบ และ/หรือมดลูกอักเสบ เมื่อแม่สุกรได้รับเชื้อแบคทีเรียที่ก่อปัญหาเข้าสู่ร่างกาย สารพิษที่เชื้อแบคทีเรียสร้างขึ้นจะมีผลไปยับยั้งฮอร์โมนโปรแลคตินและออกซิโตชินที่สร้างขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ควบคุมการสร้างและหลั่งน้ำนม เมื่อฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิด ถูกยับยั้งจะทำให้กระบวนการสร้างน้ำนมไม่เกิดขึ้น แม่สุกรอาจได้รับเชื้อทั้งจากสิ่งแวดล้อมผ่านทางรูหัวนม บาดแผลบริเวณเต้านม ช่องคลอด หรืออาจมาจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในระบบทางเดินอาหารที่มีปริมาณมากผิดปกติและสร้างสารพิษไปมีผลต่อเต้านม

 

รูปที่ 2 แสดงเต้านมอักเสบจากการติดเชื้อทางบาดแผลบริเวณเต้านม

 

  เต้านมอักเสบเมื่อรักษาจนหายจากการอักเสบประสิทธิภาพ การสร้างน้ำนมประสิทธิภาพการสร้างน้ำนมมักจะลดลง ดังนั้นการรักษาจึงเป็นเพียงการลดความรุนแรงของปัญหา ควรเน้นที่การป้องกันไม่ให้เกิดหรือทำให้ปัญหาเกิดน้อยที่สุด การป้องกันที่ดีที่สุดคือการเอาใจใส่ต่อการจัดการในส่วนของแม่สุกรรอคลอด ไม่ให้ได้รับความเครียด รวมถึงการรักษารักษาความสะอาดช่องคลอด และบริเวณบั้นท้ายของแม่สุกรไม่ให้สกปรก

 

รูปที่ 3 แสดงแม่สุกรมีปัญหามดลูกอักเสบและมีหนองไหลออกมาจากช่องคลอด

 

 

  เต้านมอักเสบไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นช่วงหลังคลอดเท่านั้น ช่วงก่อนคลอดสามารถพบปัญหานี้ได้เช่นกัน ดังนั้นควรเดินตรวจสุขภาพแม่สุกรรอคลอด สังเกตปัญหาท้องผูก แม่สุกรหอบเป็นไข้ไม่กินอาหาร ดูความสะอาดบริเวณส่วนท้ายของแม่สุกร เพราะถ้าพบปัญหาเร็วและปัญหายังไม่รุนแรงการแก้ไขปัญหาย่อมจะได้ผลดี

 

รูปที่ 4 แสดงแม่สุกรเต้านมช่วงท้ายอักเสบช่วงรอคลอด

 

 

แม่สุกรนมแห้งนอกจากจะเกิดจากการติดเชื้อแล้ว การจัดการที่บกพร่องบางอย่างสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดได้เช่น แม่สุกรอ้วนเกินไป มีการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อราในอาหาร เยื่อใยในอาหารที่ต่ำ รวมไปถึงสภาพอากาศที่ร้อน

        การจัดการดูแลแม่สุกรและลูกสุกรดูเหมือนจะยุ่งยากซับซ้อน แต่ไม่ยากเกินความเข้าใจของผู้ที่ใส่ใจสุกร ดังที่กล่าวไปในช่วงต้นการดูแลสุกรไม่ต่างจากการดูแลมนุษย์ ถ้าเราดูแลสุกรเหมือนกับการดูแลคนในครอบครัวความสำเร็จในการเลี้ยงสุกรจะไม่ไกลเกินความสามารถแน่นอน

 

ที่มา :  สารเบ็ทเทอร์ฟาร์ม่า Animal Health

16 กุมภาพันธ์ 2560

ผู้ชม 14575 ครั้ง

อุปกรณ์ฟาร์สุกร ฟาร์มโคนม ฟาร์มโคเนื้อ เครื่องมือทางสัตวแพทย์ เครื่องมือผ่าตัด วัสดุทางการแพทย์ ยารักษาสัตว์
Engine by shopup.com