อุปกรณ์ฟาร์สุกร ฟาร์มโคนม ฟาร์มโคเนื้อ เครื่องมือทางสัตวแพทย์ เครื่องมือผ่าตัด วัสดุทางการแพทย์ ยารักษาสัตว์
ตะกร้าสินค้า
WELCOME TO NUTRI PLUS INTERTRADE CO.,LTD

We are importer and distributor of Veterinary instrument, animal health supplies, farm equipment, etc.
We aim to delivery product quality with reasonable price and fast service.
Shop online – Best offer & up to 50% Discount!

ดูบทความแนวทางการเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาในเล้าคลอด

แนวทางการเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาในเล้าคลอด

หมวดหมู่: บทความของฉัน

แนวทางการเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาในเล้าคลอด

ระหว่างที่เดินตรวจเล้าคลอดของฟาร์มแห่งหนึ่ง ผมได้ลองตั้งคำถามถามน้องหัวหน้ายูนิตที่เดินตามมาพร้อมกันว่า “คุณคิดว่างานบนเล้าคลอดนี่ อะไรสำคัญที่สุด” เธอใช้เวลาสักครู่แล้วตอบมาว่า “ บอกไม่ถูก เพราะคิดว่างานทุกอย่างบนเล้าคลอดสำคัญไปหมดทุกอย่าง” ผมฟังคำตอบแล้วรู้สึกเห็นด้วย แต่ไม่ทั้งหมด พร้อมกับลองเปลี่ยนคำถามถามใหม่ว่า “แล้วการจัดการส่วนใดที่เราทำได้ไม่ดีพอ แล้วกระทบกับผลผลิตของเล้าคลอดมากที่สุด” เธอส่ายหัวแล้วตอบว่า “ไม่ทราบค่ะ” จากนั้นจึงถามผมกลับมาว่าคำตอบคืออะไร?

คำตอบของผม คือ “การจัดการที่ป้องกันการเกิดเต้านมอักเสบ” และ “การจัดการเพื่อเพิ่มการกินได้หลังคลอด”เป็นสิ่งสำคัญที่สุดมีผลกระทบต่อผลผลิตที่เกิดจากเล้าคลอด(ลูกหย่านมและแม่หย่านม)มากที่สุด

 

 

 

รูปที่ 1 แม่สุกรเป็นแผลที่หัวไหล่ เกิดจากการเสียน้ำหนักตัวเนื่องจากการกินได้หลังคลอดต่ำ

รูปที่ 2 แม่สุกรมีปัญหาเต้านมแห้งหลังคลอด ส่งผลให้ลูกสุกรอ่อนแอ

แม่ที่เต้านมอักเสบและนมแห้งหลังคลอดจะมีปัญหาเรื่องการสร้างน้ำนม ถึงแม้การกินได้หลังคลอดจะสูงกว่า 6 ก.ก./วันก็ตาม และในขณะเดียวกันถ้าแม่หลังคลอดมีเต้านมที่สมบูรณ์ไม่พบปัญหาเต้านมอักเสบ แต่หากการกินได้หลังคลอดต่ำก็ไม่สามารถสร้างน้ำนมได้อย่างเต็มที่เช่นกัน

เมื่อเราทราบว่าอะไรเป็นสิ่งที่สำคัญแล้ว ลองมาลงลึกกับสิ่งเหล่านี้สักหน่อยก็แล้วกันนะครับ โดยในฉบับนี้จะขอกล่าวถึงแนวทางการป้องกันการเกิดเต้านมอักเสบเกิดก่อนการเพิ่มการกินได้หลังก่อนนะครับ

เต้านมอักเสบหลังคลอด !!!

เต้านมอักเสบ คืออะไร 
เต้านมอักเสบ มีศัพท์ เรียกทางวิชาการเป็นภาษาอังกฤษว่า MMA ซึ่ง MMA เกิดจากคำเต็ม 3 คำ คือ

M มาจาก Mastitis แปลว่า เต้านมอักเสบ 
M มาจาก Metritis แปลว่า มดลูกอักเสบ 
A มาจาก Agalactia แปลว่า ไม่มีน้ำนม

รูปที่ 3 แม่สุกรมีปัญหามดลูกอักเสบ และมีหนองไหลออกมาจากช่องคลอด 

รูปที่ 4 แม่สุกรมีปัญหาการสร้างน้ำนม จะมีขนาดของเต้านมและราวนมเล็กกว่าที่ควร

รวมกัน 3 คำแล้วแปลออกมาได้ว่า ภาวะเต้านมอักเสบและมดลูกอักเสบและไม่มีน้ำนม ซึ่งกลไกก็คือ เมื่อแม่สุกรได้รับเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย สารพิษที่เชื้อแบคทีเรียสร้างขึ้นมาจะมีผลไปยับยั้งฮอร์โมน 2 ชนิดที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ควบคุมการสร้างและหลั่งน้ำนม คือ โปรแลคตินและอ็อกซี่โตซิน เมื่อฮอร์โมน 2 ชนิดนี้ถูกยับยั้ง กระบวนการสร้างน้ำนมจึงไม่เกิดขึ้น นั่นคือ เมื่อแม่สุกรเป็นเต้านมอักเสบหรือมดลูกอักเสบ หรือเป็นทั้ง 2 อย่าง จะมีปัญหาการสร้างน้ำนมได้น้อยตามมา

ปัญหาเอ็ม เอ็ม เอ จัดเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมากกับฟาร์มสุกรในประเทศไทย โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อน ตั้งแต่เดือน มีนาคม – พฤษภาคม ซึ่งจัดเป็นช่วงที่ฟาร์มเกิดปัญหาเอ็ม เอ็ม เอ มากที่สุด


หลายท่านยังอาจเข้าใจผิดว่า เอ็ม เอ็ม เอ จะเกิดกับแม่สุกรหลังคลอดเท่านั้น ขอบอกในที่นี้ว่า เอ็ม เอ็ม เอ สามารถเกิดได้ตั้งแต่ช่วงรอคลอดแล้ว หากเรามีโปรแกรมเดินตรวจสุขภาพแม่สุกรช่วงรอคลอดทุกวัน เราอาจพบว่ามีแม่สุกรบางตัวมีอาการเต้านมคู่ท้ายขยายใหญ่ บวมน้ำ แม่สุกรเหล่านี้นั่นล่ะครับที่เป็น “เอ็ม เอ็ม เอ” หรือ เต้านมอักเสบนั่นเอง

ปัญหาเอ็ม เอ็ม เอ ช่วงก่อนคลอดจะยังไม่ก่อปัญหารุนแรงแก่แม่สุกร หากแต่เรามองข้าม ไม่รีบทำการรักษา เมื่อคลอดเสร็จก็จะพบว่าแม่สุกรตัวดังกล่าวจะป่วยไม่กินอาหาร หรือบางตัวจะพบปัญหาตั้งแต่ตอนคลอดแล้ว คือ มีปัญหาคลอดนานเนื่องจากไม่มีแรงเบ่ง ซึ่งจะก่อปัญหาตายคลอดตามมาอีกด้วย

การรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย

จะบอกว่าอยู่ดีดี แม่สุกรก็มีปัญหา เอ็ม เอ็ม เอ เลยก็คงไม่ได้ แม่ที่มีปัญหา เอ็ม เอ็ม เอ นั้นก็เนื่องมาจากการที่แม่สุกรมีการรับเชื้อแบคทีเรียที่ก่อปัญหาเข้าสู่ร่างกาย โดยเป็นได้ทั้งแบคทีเรียแกรมบวก และ แบคทีเรียแกรมลบ วิธีที่แบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายแม่สุกรมี 2 วิธี คือ

1.จากแบคทีเรียภายนอกร่างกาย หรือ จากสิ่งแวดล้อม โดยสามารถเข้าสู่ร่างกายโดย

a. ทางรูหัวนม 
b. ทางช่องคลอด เช่น จากการล้วงคลอด

2.จากแบคทีเรียอยู่ที่อาศัยอยู่ในส่วนต่างๆ ของร่างกาย มีการรุกลามเข้าสู่ระบบสืบพันธุ์ โดยมีสาเหตุโน้มนำจากภาวะเครียด หรือจากการจัดการที่บกพร่อง เช่น ภาวะท้องผูก หรือ การได้รับอาหารที่มีโปรตีนสูง

ผลกระทบจากปัญหาเต้านมอักเสบ

ฟาร์มที่มีปัญหาแม่หลังคลอดเต้านมอักเสบเป็นจำนวนมาก มักพบปัญหาเหล่านี้ตามมา 
1. ลูกแรกคลอดขาดภูมิต้านทานโรค เนื่องจากไม่ได้รับภูมิคุ้มกันจากนมน้ำเหลือง 
2. ลูกแรกคลอดอ่อนแอ เนื่องจากไม่ได้รับสารอาหารและพลังงานจากนมแม่ 
3. ตายก่อนหย่านมสูง จากปัญหาลูกอ่อนแอ 
4. น้ำหนักหย่านมต่ำ

พบว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ได้จบแค่เพียงตอนหย่านมเท่านั้น หากยังพบว่าลูกสุกรที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันร่างกายที่ต่ำจากการได้รับนมน้ำเหลืองไม่เพียงพอเมื่อแรกคลอด มักจะเป็นกลุ่มเดียวกับสุกรที่ก่อปัญหาชักในเล้าอนุบาลด้วย!!!

การรักษา

การรักษาสุกรที่ป่วยเป็น เอ็ม เอ็ม เอ มีหลักอยู่ว่า “ แม่สุกรมีปัญหาอะไร ก็แก้ไขปัญหานั้นให้กลับมาเป็นปกติตามเดิม” นั่นก็คือ “ รักษาตามอาการ ” นั่นเอง ได้แก่

1. มีไข้ รักษาโดย ให้ยาลดไข้ 
2.ไม่กินอาหาร รักษาโดย ให้สารอาหาร เช่น น้ำเกลือ วิตามินบีรวม เพื่อกระตุ้น การกินอาหาร 
3. ติดเชื้อ รักษาโดย ให้ยาปฏิชีวนะเพื่อลดการติดเชื้อ 
4. มดลูกเป็นหนอง รักษาโดย ล้างมดลูกพร้อมกับให้ยาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ยากลุ่มเซฟฟาโรสปอริน เป็นต้น

สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การเลือกใช้ยาปฏิชีวนะในการป้องกันและรักษา เอ็ม เอ็ม เอ ที่เหมาะสมตรงกับเชื้อที่ก่อปัญหาในฟาร์ม เราสามารถดูได้จากผลตอบสนองต่อการรักษาของยาที่เราใช้อยู่ กล่าวคือ เมื่อใช้ยาชนิดนั้นๆไปแล้วควรเห็นการตอบสนองที่ดีขึ้นจากแม่พันธุ์ที่ได้รับยา เช่น จากที่มีปัญหาไม่กินอาหารก็กลับมากินอาหารได้ หรือ ดูจากการที่แม่สุกรมีอุณภูมิร่างกายลดลงหลังจากได้รับยา(อุณหภูมิร่างกายควรลดต่ำลงกว่า 40 องศาเซลเซียส)

การป้องกัน

อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่าเต้านมที่อักเสบ เมื่อหายอักเสบเต้านมมักจะแห้ง ประสิทธิภาพการสร้างน้ำนมลดลงจากปกติ ดังนั้นการรักษาจึงเป็นเพียงวิธีที่ทำให้ความรุนแรงของปัญหาลดลงเท่านั้นเอง ทางที่ดีเราควรเน้นที่การป้องกันดีกว่า เพื่อที่จะทำให้ปัญหาเกิดน้อยที่สุด

วิธีป้องกันก็ไม่มีอะไรยากเย็น แค่เราทราบว่าสาเหตุของการติดเชื้อเข้าสู่ร่างกาย มี 2 ทาง คือ จากการติดเชื้อจากสิ่งแวดล้อมและภาวะกดภูมิคุ้มกันจากความเครียด เราก็ไปเน้นการจัดการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้ตามมาซึ่งได้แก่

รูปที่ 7 แม่สุกรที่เต้านมปกติ ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ มีราวนมขนาดใหญ่ เต้าแต่ละคู่แบ่งกันชัดเจน

รูปที่ 8 ปัญหาแม่ท้องผูกช่วงรอคลอด สาเหตุโน้มนำที่ทำให้เกิดปัญหา เอ็ม เอ็ม เอ

1. อาหาร

• อาหารแม่รอคลอดควรมีโปรตีนต่ำกว่า 18% 
• อาหารแม่รอคลอดควรมีเยื่อใยในสูตรสูงกว่า 4.5%

2. การจัดการที่ทำให้แม่รอคลอดเครียด

• ไม่ย้ายแม่ขึ้นคลอดตอนอากาศร้อน ให้ทำก่อน 7 โมงเช้าจะดีที่สุด 
• ระยะรอคลอดไม่ควรสั้นกว่า 5 วัน 
• เปิดน้ำหยด อาบน้ำ เปิดพัดลมช่วงรอคลอด ไม่ควรพบแม่หอบ 
• มีน้ำสะอาดให้กินอย่างเพียงพอและมีอัตราการไหลแรง

3. การจัดการเรื่องความสะอาด

• ไม่ให้ยืนรอคลอดนานกว่า 7 วัน 
• ทำความสะอาดคอกโดยวิธีที่ถูกต้อง ใช้ยาฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพ 
• พักคอกไม่น้อยกว่า 7 วัน

4. มีโปรแกรมการใช้ยาเพื่อป้องกันโรคต่างๆเหล่านี้ในฟาร์ม

• พยาธิในเม็ดเลือด(อีเพอริโทซูน) ใช้ อ็อกซี่เตรตตร้าไซคลินฉีดก่อนคลอด 7 วัน 
• อี.โคไล ใช้เอ็นโรฟ็อกซาซินฉีดก่อนคลอด 1 วัน 
• สเตร็ปโตค็อกโคซีส ใช้แอมม็อกซี่ซิลินฉีดก่อนคลอด 1 วัน

5. ตัวช่วยอื่นๆ ได้แก่

• การให้วิตามิน เอ ดี อี 7 วันก่อนคลอด เพื่อเสริมภูมิต้านทานโรคและความสมบูรณ์พันธุ์แก่แม่สุกร 
• เสริมสมุนไพรที่ออกฤทธิ์ในการเพิ่มภูมิคุ้มกันโรคและกระตุ้นการกินอาหารในอาหารแม่รอคลอดและแม่หลังคลอด 1 สัปดาห์ 
• ปรับค่า DCAB ในอาหารแม่รอคลอดให้เหมาะสม โดยการใส่แคลเซียมคลอไรด์ในอาหาร เพื่อลดปริมาณเชื้อโรคที่ก่อปัญหาในร่างกายแม่สุกร

สรุป

ปัญหา เอ็ม เอ็ม เอ เป็นปัญหาที่สำคัญที่มีผลต่อการผลิตลูกสุกรบนเล้าคลอด และมีผลต่อเนื่องไปถึงปัญหาสุขภาพสุกรช่วงอนุบาลอีกด้วย การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การเอาใจใส่ต่อการจัดการในส่วนของแม่รอคลอดไม่ให้กระทบความเครียด รวมถึงการรักษาความสะอาดซองคลอดและบริเวณบั้นท้ายแม่สุกรไม่ให้สกปรกซึ่งเป็นที่สะสมของเชื้อโรคน่าจะเป็นการป้องกันปัญหาได้อย่างดี

ปัญหาเต้านมอักเสบไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นช่วงหลังคลอดเท่านั้น ช่วงก่อนคลอดก็สามารถพบปัญหานี้ได้ เพียงแต่ผู้ดูแลฟาร์มมักขาดความเอาใจใส่ที่จะตรวจสุขภาพแม่สุกรในช่วงรอคลอดเท่าที่ควร การเดินตรวจสุขภาพแม่รอคลอดดูสังเกตุดูปัญหาท้องผูก , แม่หอบเป็นไข้ไม่กินอาหาร , ดูความสะอาดส่วนท้ายของร่างกายและดูปัญหาเต้านมอักเสบ)จึงเป็นงานหนึ่งที่หัวหน้ายูนิตควรจะต้องทำ เพราะถ้าพบปัญหาเร็วและปัญหายังไม่รุนแรงการแก้ไขย่อมจะได้ผลดีที่สุด 

 

Source: http://www.better-pharma.com

21 กรกฎาคม 2560

ผู้ชม 32682 ครั้ง

อุปกรณ์ฟาร์สุกร ฟาร์มโคนม ฟาร์มโคเนื้อ เครื่องมือทางสัตวแพทย์ เครื่องมือผ่าตัด วัสดุทางการแพทย์ ยารักษาสัตว์
Engine by shopup.com