อุปกรณ์ฟาร์สุกร ฟาร์มโคนม ฟาร์มโคเนื้อ เครื่องมือทางสัตวแพทย์ เครื่องมือผ่าตัด วัสดุทางการแพทย์ ยารักษาสัตว์
ตะกร้าสินค้า
WELCOME TO NUTRI PLUS INTERTRADE CO.,LTD

We are importer and distributor of Veterinary instrument, animal health supplies, farm equipment, etc.
We aim to delivery product quality with reasonable price and fast service.
Shop online – Best offer & up to 50% Discount!

ดูบทความวิธีแก้โคท้องอืด (Bloat)

วิธีแก้โคท้องอืด (Bloat)

หมวดหมู่: บทความแนะนำ

เป็นความผิดปกติของระบบย่อยอาหารในกระเพาะส่วนหน้า (กระเพาะหมักใหญ่) โดยแก๊สที่เกิดจากขบวนการย่อยถูกขับออกช้าหรือไม่ถูกขับออก ปริมาณแก๊สสะสมอยู่ในกระเพาะเป็นจำนวนมาก ทำให้กระเพาะหมักโป่งขยายใหญ่

สาเหตุ
1. โคกินอาหารข้นในปริมาณมากแต่ได้รับอาหารหยาบน้อย ทำให้กระเพาะเกิดความเป็นกรด (Ruminal Acidosis) อาหารไม่ถูกย่อยจึงเกิดแก๊สสะสมเป็นจำนวนมากในกระเพาะหมัก
2. มีวัตถุแปลกปลอมที่แข็งหรืออาหารบางชนิด เช่น ผลมะม่วง หมากกระโดน อุดตันบริเวณหลอดอาหาร (Esophagus) ทำให้แก๊สที่เกิดจากการหมักในกระเพาะไม่สามารถเรอออกทางปากตามปกติได้
3. โคได้รับสารเคมีบางอย่างในปริมาณมากเกินไป ตัวอย่างเช่น ถ้าแม่โคได้รับปุ๋ยยูเรียที่ใช้ในขบวนการหมักฟางในปริมาณมากเกินไป จะทำให้กระเพาะไม่ทำงานเนื่องจากเกิดภาวะความเป็นด่างในกระเพาะ (Ruminal Alkalosis)
4. โคกินพืชหรืออาหารสัตว์ที่มีไนเตรทหรือไซยาไนด์เข้าไปในปริมาณมาก ทำให้โคตายเนื่องจากภาวะเลือดไม่นำอ๊อกซิเจน (Tissue Anoxia) โดยโคจะแสดงอาการท้องอืดและตายอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างพืชที่มีสารไซยาไนด์ ได้แก่ ใบมันสำปะหลัง ส่วนสารไนเตรทมีในต้นไมยราพไร้หนาม
5. โคกินสิ่งแปลกปลอม เช่น เศษลวด ตะปู หรือลวด โลหะที่แหลมคมเหล่านี้จะไปทิ่มแทงผนังกระเพาะ อาจจะถูกเส้นประสาทบางส่วนที่ไปบังคับการทำงานของกระเพาะ (Ventral Vagus Nerve) ทำให้กระเพาะไม่ทำงานและเกิดสภาพท้องอืดตามาได้ โดยมากกรณีนี้มักเป็นการป่วยแบบเรื้อรัง
6. โคกินหญ้าอ่อนที่ย่อยง่ายและมีน้ำสะสมเข้าไปมากเกินไป ทำให้เกิดแก๊สสะสมในกระเพาะเป็นปริมาณมากอย่างฉับพลัน กรณีเช่นนี้มักพบมากในช่วงต้นฤดูที่มีหญ้าอ่อนเกิดขึ้นมากหลังฝนตกใหม่ๆ

อาการ

โคแสดงอาการกระวนกระวาย มักหันหน้าไปทางสวาบ น้ำลายไหลยืด หายใจหอบ หัวใจเต้นเร็วด้วยความปวด บริเวณสวาบด้านซ้าย (Left flank) จะโป่งขยายใหญ่ ต่อมาโคจะหายใจขัดเนื่องจากกระเพาะส่วนที่ขยายไปกดทับกระบังลมทำให้โคหายใจไม่สะดวก และตายเนื่องจากระบบการหายใจล้มเหลว

การรักษา

ทำการแก้ไขตามสาเหตุแต่สิ่งแรกที่ควรทำคือ รีบเจาะให้แก๊สที่เกิดขึ้นในกระเพาะออกโดยตำแหน่งที่เจาะคือบริเวณสวาบด้านซ้าย ก่อนเจาะให้รีดผิวหนังบริเวณนี้ให้ตึงแล้วแทงท่อเจาะ (Trocar canula) ให้ทะลุกล้ามเนื้อเข้าช่องท้องและผนังกระเพาะ แก๊สจะออกมาทางท่อนี้ในกรณีที่โคกินหญ้าอ่อนมากเกินไป แก้ไขโดยการกรอกน้ำมันพืช 2-4 ลิตร เข้ากระเพาะจะช่วยลดปริมาณแก๊สที่เกิดขึ้นได้
ถ้าโคกินอาหารข้นมากเกินไปเกิดภาวะความเป็นกรดในกระเพาะมาก ควรกรอกสารพวกผงฟู (โซเดี่ยมไบคาร์โบเนต) ให้โคกินในขนาด 1 กรัม/น้ำหนัก 1 กิโลกรัม ร่วมกับการให้สารละลายน้ำเกลือ (Normal saline) เข้าเส้นเพื่อแก้ภาวะการขาดน้ำ (Dehydration)
กรณีที่โคได้รับสารพิษไซยาไนด์ ควรฉีดสารละลายแก้พิษพวกโซเดียม ไทโอซัลเฟต (Sodium Thiosulfate) 20% ร่วมกับโซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) 20% ในอัตราส่วน 3:1 เข้าเส้นในขนาด 4 ซี.ซี./น้ำหนัก 50 กิโลกรัม แต่ถ้าเป็นสารพิษในกลุ่มไนเตรท ควรให้สารละลาย 2-4% เม็ททีลีนบลู (Methylene blue) ฉีดเข้าเส้นในขนาด 4-5 มิลลิกรัม/น้ำหนัก 1 กิโลกรัม
ถ้าเป็นแม่โคท้องอืดจากพิษของยูเรีย ควรกรอกน้ำส้มสายชูหรือน้ำเย็นปริมาณมากๆ จะช่วยชะลอการเกิดแก๊สได้แต่ถ้าเกิดการอุดตันบริเวณหลอดอาหารควรใช้ท่อเหล็กสปริงสอดเข้าทางปากเพื่อดันให้ส่วนที่อุดตันหลุดผ่านหลอดอาหารลงไปได้ ก่อนทำการแก้ไขควรฉีดยาคลายกล้ามเนื้อพวกกรอมพัน (Rompun) หรืออโทรปิน ซัลเฟต (Atropine sulfate)

การป้องกัน

1. ในช่วงต้นฤดูฝนไม่ควรให้แม่โคกินหญ้าอ่อนมากเกินไป ควรให้กินฟางสักระยะหนึ่งก่อนที่จะปล่อยแม่โคลงแทะเล็มหญ้าในแปลง หรือกรณีตัดหญ้าสดมาให้แม่โคกิน ควรผึ่งแดดไว้ก่อน 1 วัน ก่อนนำมาให้แม่โคกิน
2. ในช่วงหน้าแล้งถ้าต้องการให้อาหารข้นแก่แม่โคปริมาณมาก ควรผสมโซเดี่ยมไบคาร์โบเนต (ผงฟู) ในอาหารแม่โคด้วย และแบ่งจำนวนครั้งที่ให้อาหารเพิ่มขึ้น
3. ต้องระวังระดับยูเรียในสูตรอาหาร ไม่ควรให้มากไปและมีอาหารพลังงาน (Carbohydrate) ที่ย่อยสลายง่าย เช่น รำ หรือ มันเส้นในปริมาณที่พอเพียงควบคู่ไปด้วยจะช่วยลดพิษของยูเรียได้มาก
4. ควรป้อนแม่เหล็กให้แม่โคกินเพื่อดักจับเศษโลหะที่แม่โคกินเข้าไปโดยบังเอิญ

 

แท่งท่อเจาะกระเพาะโค (Trocar canula)  หาซื้อได้ที่ http://npi.co.th/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2-137392-%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%84-%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%81.html
---------------------------------
ที่มา
ทัศนีย์ ชมภูจันทร์, มนัสนันนท์ ประสิทธิรัตน์ และมนยา เอกทัตร์ (บรรณาธิการ). 2539. คู่มือการดูแลสุขภาพโคนม" สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ. ฟันนี่พับบลิชิ่ง.
ทัศนีย์ ชมภูจันทร์, สุรีย์ ธรรมศาสตร์, ปนันท์ ธนเจริญวัชร, จิรา คงครอง และเอกรินทร์ วัฒนพลาชัยกูร (บรรณาธิการ). 2539. คู่มือมาตรฐานการชันสูตรโรคสัตว์. สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ.โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

Source: http://niah.dld.go.th/th/AnimalDisease/cow_bloat.htm

06 มีนาคม 2560

ผู้ชม 22830 ครั้ง

อุปกรณ์ฟาร์สุกร ฟาร์มโคนม ฟาร์มโคเนื้อ เครื่องมือทางสัตวแพทย์ เครื่องมือผ่าตัด วัสดุทางการแพทย์ ยารักษาสัตว์
Engine by shopup.com