อุปกรณ์ฟาร์สุกร ฟาร์มโคนม ฟาร์มโคเนื้อ เครื่องมือทางสัตวแพทย์ เครื่องมือผ่าตัด วัสดุทางการแพทย์ ยารักษาสัตว์
เป็นความผิดปกติของระบบย่อยอาหารในกระเพาะส่วนหน้า (กระเพาะหมักใหญ่) โดยแก๊สที่เกิดจากขบวนการย่อยถูกขับออกช้าหรือไม่ถูกขับออก ปริมาณแก๊สสะสมอยู่ในกระเพาะเป็นจำนวนมาก ทำให้กระเพาะหมักโป่งขยายใหญ่
สาเหตุ
1. โคกินอาหารข้นในปริมาณมากแต่ได้รับอาหารหยาบน้อย ทำให้กระเพาะเกิดความเป็นกรด (Ruminal Acidosis) อาหารไม่ถูกย่อยจึงเกิดแก๊สสะสมเป็นจำนวนมากในกระเพาะหมัก
2. มีวัตถุแปลกปลอมที่แข็งหรืออาหารบางชนิด เช่น ผลมะม่วง หมากกระโดน อุดตันบริเวณหลอดอาหาร (Esophagus) ทำให้แก๊สที่เกิดจากการหมักในกระเพาะไม่สามารถเรอออกทางปากตามปกติได้
3. โคได้รับสารเคมีบางอย่างในปริมาณมากเกินไป ตัวอย่างเช่น ถ้าแม่โคได้รับปุ๋ยยูเรียที่ใช้ในขบวนการหมักฟางในปริมาณมากเกินไป จะทำให้กระเพาะไม่ทำงานเนื่องจากเกิดภาวะความเป็นด่างในกระเพาะ (Ruminal Alkalosis)
4. โคกินพืชหรืออาหารสัตว์ที่มีไนเตรทหรือไซยาไนด์เข้าไปในปริมาณมาก ทำให้โคตายเนื่องจากภาวะเลือดไม่นำอ๊อกซิเจน (Tissue Anoxia) โดยโคจะแสดงอาการท้องอืดและตายอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างพืชที่มีสารไซยาไนด์ ได้แก่ ใบมันสำปะหลัง ส่วนสารไนเตรทมีในต้นไมยราพไร้หนาม
5. โคกินสิ่งแปลกปลอม เช่น เศษลวด ตะปู หรือลวด โลหะที่แหลมคมเหล่านี้จะไปทิ่มแทงผนังกระเพาะ อาจจะถูกเส้นประสาทบางส่วนที่ไปบังคับการทำงานของกระเพาะ (Ventral Vagus Nerve) ทำให้กระเพาะไม่ทำงานและเกิดสภาพท้องอืดตามาได้ โดยมากกรณีนี้มักเป็นการป่วยแบบเรื้อรัง
6. โคกินหญ้าอ่อนที่ย่อยง่ายและมีน้ำสะสมเข้าไปมากเกินไป ทำให้เกิดแก๊สสะสมในกระเพาะเป็นปริมาณมากอย่างฉับพลัน กรณีเช่นนี้มักพบมากในช่วงต้นฤดูที่มีหญ้าอ่อนเกิดขึ้นมากหลังฝนตกใหม่ๆ
อาการ
โคแสดงอาการกระวนกระวาย มักหันหน้าไปทางสวาบ น้ำลายไหลยืด หายใจหอบ หัวใจเต้นเร็วด้วยความปวด บริเวณสวาบด้านซ้าย (Left flank) จะโป่งขยายใหญ่ ต่อมาโคจะหายใจขัดเนื่องจากกระเพาะส่วนที่ขยายไปกดทับกระบังลมทำให้โคหายใจไม่สะดวก และตายเนื่องจากระบบการหายใจล้มเหลว
การรักษา
ทำการแก้ไขตามสาเหตุแต่สิ่งแรกที่ควรทำคือ รีบเจาะให้แก๊สที่เกิดขึ้นในกระเพาะออกโดยตำแหน่งที่เจาะคือบริเวณสวาบด้านซ้าย ก่อนเจาะให้รีดผิวหนังบริเวณนี้ให้ตึงแล้วแทงท่อเจาะ (Trocar canula) ให้ทะลุกล้ามเนื้อเข้าช่องท้องและผนังกระเพาะ แก๊สจะออกมาทางท่อนี้ในกรณีที่โคกินหญ้าอ่อนมากเกินไป แก้ไขโดยการกรอกน้ำมันพืช 2-4 ลิตร เข้ากระเพาะจะช่วยลดปริมาณแก๊สที่เกิดขึ้นได้
ถ้าโคกินอาหารข้นมากเกินไปเกิดภาวะความเป็นกรดในกระเพาะมาก ควรกรอกสารพวกผงฟู (โซเดี่ยมไบคาร์โบเนต) ให้โคกินในขนาด 1 กรัม/น้ำหนัก 1 กิโลกรัม ร่วมกับการให้สารละลายน้ำเกลือ (Normal saline) เข้าเส้นเพื่อแก้ภาวะการขาดน้ำ (Dehydration)
กรณีที่โคได้รับสารพิษไซยาไนด์ ควรฉีดสารละลายแก้พิษพวกโซเดียม ไทโอซัลเฟต (Sodium Thiosulfate) 20% ร่วมกับโซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) 20% ในอัตราส่วน 3:1 เข้าเส้นในขนาด 4 ซี.ซี./น้ำหนัก 50 กิโลกรัม แต่ถ้าเป็นสารพิษในกลุ่มไนเตรท ควรให้สารละลาย 2-4% เม็ททีลีนบลู (Methylene blue) ฉีดเข้าเส้นในขนาด 4-5 มิลลิกรัม/น้ำหนัก 1 กิโลกรัม
ถ้าเป็นแม่โคท้องอืดจากพิษของยูเรีย ควรกรอกน้ำส้มสายชูหรือน้ำเย็นปริมาณมากๆ จะช่วยชะลอการเกิดแก๊สได้แต่ถ้าเกิดการอุดตันบริเวณหลอดอาหารควรใช้ท่อเหล็กสปริงสอดเข้าทางปากเพื่อดันให้ส่วนที่อุดตันหลุดผ่านหลอดอาหารลงไปได้ ก่อนทำการแก้ไขควรฉีดยาคลายกล้ามเนื้อพวกกรอมพัน (Rompun) หรืออโทรปิน ซัลเฟต (Atropine sulfate)
การป้องกัน
1. ในช่วงต้นฤดูฝนไม่ควรให้แม่โคกินหญ้าอ่อนมากเกินไป ควรให้กินฟางสักระยะหนึ่งก่อนที่จะปล่อยแม่โคลงแทะเล็มหญ้าในแปลง หรือกรณีตัดหญ้าสดมาให้แม่โคกิน ควรผึ่งแดดไว้ก่อน 1 วัน ก่อนนำมาให้แม่โคกิน
2. ในช่วงหน้าแล้งถ้าต้องการให้อาหารข้นแก่แม่โคปริมาณมาก ควรผสมโซเดี่ยมไบคาร์โบเนต (ผงฟู) ในอาหารแม่โคด้วย และแบ่งจำนวนครั้งที่ให้อาหารเพิ่มขึ้น
3. ต้องระวังระดับยูเรียในสูตรอาหาร ไม่ควรให้มากไปและมีอาหารพลังงาน (Carbohydrate) ที่ย่อยสลายง่าย เช่น รำ หรือ มันเส้นในปริมาณที่พอเพียงควบคู่ไปด้วยจะช่วยลดพิษของยูเรียได้มาก
4. ควรป้อนแม่เหล็กให้แม่โคกินเพื่อดักจับเศษโลหะที่แม่โคกินเข้าไปโดยบังเอิญ
แท่งท่อเจาะกระเพาะโค (Trocar canula) หาซื้อได้ที่ http://npi.co.th/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2-137392-%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%84-%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%81.html
---------------------------------
ที่มา
ทัศนีย์ ชมภูจันทร์, มนัสนันนท์ ประสิทธิรัตน์ และมนยา เอกทัตร์ (บรรณาธิการ). 2539. คู่มือการดูแลสุขภาพโคนม" สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ. ฟันนี่พับบลิชิ่ง.
ทัศนีย์ ชมภูจันทร์, สุรีย์ ธรรมศาสตร์, ปนันท์ ธนเจริญวัชร, จิรา คงครอง และเอกรินทร์ วัฒนพลาชัยกูร (บรรณาธิการ). 2539. คู่มือมาตรฐานการชันสูตรโรคสัตว์. สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ.โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
Source: http://niah.dld.go.th/th/AnimalDisease/cow_bloat.htm
06 มีนาคม 2560
ผู้ชม 22831 ครั้ง